หลักสูตรและเกณฑ์การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน

เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์

รายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตร


ชื่อหลักสูตร

(ภาษาไทย) หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญ
ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาจิตเวชศาสตร์
(ภาษาอังกฤษ) Residency training in Psychiatry

ชื่อวุฒิบัตร

ชื่อเต็ม (ภาษาไทย) วุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาจิตเวชศาสตร์
(ภาษาอังกฤษ) Diploma of the Thai Board of Psychiatry
ชื่อย่อ (ภาษาไทย) ว.ว. สาขาจิตเวชศาสตร์
ชื่อย่อ (ภาษาอังกฤษ) Dip.,Thai Board of Psychiatry

พันธกิจของการฝึกอบรม/หลักสูตร

พันธกิจของหลักสูตรการฝึกอบรมได้กำหนดขึ้นโดยคำนึงถึงความต้องการด้านสุขภาพของชุมชน สังคม ระบบบริการสุขภาพ นำข้อมูลทางสถิติของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภาและราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยมาใช้เป็นแนวทาง รวมถึงมุมมองอื่น ๆ ที่เป็นความรับผิดชอบทางสังคมตามความเหมาะสม
๑) มีความรู้ความสามารถในเวชปฏิบัติที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับบริบทของสาขาวิชาจิตเวชศาสตร์
๒) มีความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพและปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพหรือเป็นทีมได้
๓) มีเจตนารมณ์และเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้ศึกษาต่อเนื่องและพัฒนาวิชาชีพตลอดชีวิต
๔) มีความเอื้ออาทรและใส่ใจในความปลอดภัยเพื่อการแก้ไขปัญหาและการส่งเสริมสุขภาพโดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานของการดูแลแบบองค์รวม
๕) มีพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อเพื่อนร่วมงานทั้งในวิชาชีพของตนเองและวิชาชีพอื่นๆ รวมทั้งผู้ป่วยและญาติ
๖) มีความรับผิดชอบ มีจริยธรรม ทัศนคติ และเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วย ผู้ร่วมงาน และองค์กรเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริการทางจิตเวชศาสตร์
๗) มีความสามารถด้านอื่นๆที่สำคัญได้แก่ ความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ความสามารถด้านการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ การทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพโดยเป็นผู้นำทางวิชาการ มีความสามารถในการบริหารจัดการ ความรู้ความเข้าใจในระบบสุขภาพ กระบวนการคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
๘) มีความสามารถในการการดูแล รักษา ป้องกัน ส่งเสริม และฟื้นฟูสุขภาพจิตแก่ผู้ป่วย รวมทั้งครอบครัวของผู้ป่วย มีปฎิสัมพันธ์ที่เหมาะสมต่อเพื่อนร่วมงานและเพื่อนร่วมวิชาชีพ
๙) มีความรับผิดชอบต่อสังคม และประกอบวิชาชีพด้วยความสุจริตตามมาตรฐานและตามจรรยาบรรณจิตแพทย์ และทันกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
๑๐) มีความสามารถในการรักษาสุขภาพและสภาวะการทำงานได้อย่างสมดุล ปฏิบัติงานได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีการกำกับดูแล

ผลลัพธ์ของการฝึกอบรม/หลักสูตร

แพทย์ประจำบ้านที่จบการฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์ต้องมีคุณสมบัติและความรู้ความสามารถขั้นต่ำตามสมรรถนะหลักทั้ง ๖ ด้านดังนี้
๑) การดูแลรักษาผู้ป่วย (Patient Care)
ก. มีทักษะในการสัมภาษณ์ทางจิตเวช การตรวจร่างกาย การตรวจสภาพจิต การใช้แบบประเมินที่สำคัญ และการรวบรวมข้อมูล เพื่อนำมาคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผลเพื่อนำไปสู่ การตัดสินใจให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
ข. วินิจฉัยบำบัดรักษาภาวะผิดปกติทางจิตเวชศาสตร์ที่พบโดยทั่วไปในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
ค. บันทึกรายงานผู้ป่วยได้อย่างสมบูรณ์และสม่ำเสมอ
ง. ป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพจิต
๒) ความรู้ ความเชี่ยวชาญและความสามารถในการนำไปใช้แก้ปัญหาของผู้ป่วยและสังคม รอบด้าน (Medical Knowledge and Skills)
ก. มีความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพจิต จิตวิทยา วิทยาศาสตร์การแพทย์และสังคม ที่จำเป็นต่อ การปฏิบัติงานด้านจิตเวช
ข. มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพและเชี่ยวชาญในสาขาจิตเวชศาสตร์
๓) การเรียนรู้จากการปฏิบัติและการพัฒนาตนเอง (practice-based learning and improvement)
ก. วิพากษ์บทความ และดำเนินการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขได้
ข. มีความรู้ในการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณทางการแพทย์ และการแพทย์เชิงประจักษ์
ค. เรียนรู้และเสริมสร้างประสบการณ์ทางวิชาชีพได้ด้วยตนเองจากการฝึกปฏิบัติ
๔) ทักษะการมีปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and Communication Skills)
ก. นำเสนอข้อมูลผู้ป่วย และอภิปรายปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
ข. ถ่ายทอดความรู้และทักษะ เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแก่แพทย์ นักศึกษาแพทย์และหรือ บุคลากรทางการแพทย์
ค. สื่อสารให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติ ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยมีเมตตาเคารพ การตัดสินใจและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
ง. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำงานกับผู้ร่วมงานทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ
๕) ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)
ก. มีคุณธรรมจริยธรรมและเจตคติอันดีต่อผู้ป่วย ญาติ ผู้ร่วมงาน เพื่อนร่วมวิชาชีพและ ชุมชนอย่างมีอิสระทางวิชาชีพ
ข. มีความสามารถในการสำรวจจิตใจ พัฒนาตัวเอง และสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องได้เหมาะสม
ค. มีความสนใจใฝ่รู้และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (continuous professional development)
ง. มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
จ. คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม
๖) การปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (System-based practice)
ก. มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุขภาพ บริบททางสังคม และวัฒนธรรมของประเทศ
ข. มีความรู้และมีส่วนร่วมในระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย
ค. ใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม (cost consciousness medicine) และสามารถปรับเปลี่ยนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เข้ากับบริบทของการบริการสาธารณสุขได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ

แผนการฝึกอบรม/หลักสูตร

วิธีการให้การฝึกอบรม การจัดประสบการณ์เรียนรู้มีรายละเอียดในภาคผนวกที่ ๑ หัวข้อ วิธีการให้การฝึกอบรม (ปรับปรุงหลักสูตร ๒๕๖๑) โดยสถาบันฯมีแนวทางการจัดการฝึกอบรมตามหัวข้อต่อไปนี้
๑) สมรรถนะในการดูแลรักษาผู้ป่วย (Patient Care) มีการมอบหมายให้แพทย์ประจำบ้านผู้เข้ารับการฝึกอบรม รับผิดชอบดูแลรักษาผู้ป่วย ในความควบคุมของอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมดังต่อไปนี้
ก. แพทย์ประจำบ้านปีที่ ๑ เรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลทางจิตเวชศาสตร์ระดับไม่ซับซ้อน ได้แก่
• ความรู้พื้นฐานทาง psychological science ในโรคที่พบบ่อย
• Basic technique of interview และ mental status examinationเพื่อการวินิจฉัย
• การดูแลโรคหรือภาวะทางจิตเวชที่ไม่ซับซ้อนและ/หรือพบบ่อย
• Emergency management เช่น aggression, suicide
• Basic supportive psychological support
ข. แพทย์ประจำบ้านปีที่ ๒,๓ เรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลทางจิตเวชศาสตร์ระดับซับซ้อน ได้แก่
• การสัมภาษณ์ทางจิตเวช (psychiatric interviewing) และ การตรวจสภาพจิต (mental status examination) เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย ความเข้าใจสาเหตุการเกิดอาการและวางแผนการรักษาได้
• การดูแลโรคหรือภาวะทางจิตเวชที่ซับซ้อนและ/หรือพบน้อย
• การดูแลโรคหรือภาวะทางจิตเวชในบริบทต่าง ๆ เช่น การรับปรึกษาจากแผนกต่างๆในโรงพยาบาลทั่วไป (consultation)
• Psychological intervention ในประเด็นที่สำคัญได้
• การฝึกปฏิบัติงานในสถานบำบัดผู้ป่วยจิตเวชเฉพาะกรณี เช่น จิตเวชศาสตร์ด้านสารเสพติด การทหาร เด็กวัยรุ่น สูงอายุ หรือ การนอนหลับ
๒) ความรู้ ความเชี่ยวชาญและความสามารถในการนำไปใช้แก้ปัญหาของผู้ป่วยและสังคมรอบด้าน (Medical Knowledge and Skills)
ก. แพทย์ประจำบ้านปีที่ ๑ เรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานทางจิตเวชศาสตร์ เช่น พฤติกรรมศาสตร์ จิตเวชศาสตร์ทั่วไป และ จิตเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
ข. แพทย์ประจำบ้านปีที่ ๒, ๓ เรียนและปฏิบัติงานในสาขาวิชาเฉพาะทางต่างๆของจิตเวชศาสตร์
ค. แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปี เข้าร่วมในกิจกรรมทางวิชาการ เช่น case conference, journal club
ง. แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปี ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการรักษาด้วยการทำจิตบำบัด หรือวิธีการรักษาแบบใหม่ๆที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางจิตเวชศาสตร์
๓) การพัฒนาตนเองและการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Practice-based Learning and Improvement) แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีควรมีประสบการณ์ด้านต่าง ๆ ดังนี้
ก. การเรียนรู้ในการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม และการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ
ข. ประสบการณ์ด้านการสอน
ค. การบันทึกข้อมูลในเวชระเบียนผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์
ง. ทำงานวิจัยได้มาตรฐานตามเกณฑ์สอบวุฒิบัตรสาขาจิตเวชศาสตร์
๔) ทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and Communication Skills) แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีต้อง
ก. เรียนรู้เกี่ยวกับทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร
ข. นำเสนอข้อมูลผู้ป่วยและอภิปรายปัญหาในกิจกรรมวิชาการได้เช่น case conference เป็นต้น

เนื้อหาของการฝึกอบรม/หลักสูตร

๑) ความรู้พื้นฐานของจิตเวชศาสตร์และระบบที่เกี่ยวข้อง
๒) โรคหรือภาวะทางจิตเวชศาสตร์ที่สำคัญแบ่งเป็น
ระดับที่ ๑ โรคหรือภาวะที่พบบ่อย และมีความสำคัญซึ่งแพทย์ประจำบ้านต้องรู้เป็นอย่างดี สามารถเรียนรู้ได้จากผู้ป่วยโดยตรง สามารถให้การวินิจฉัย ให้การบำบัดรักษา ส่งเสริมป้องกัน ฟื้นฟูสมรรถภาพได้
ระดับที่ ๒ โรคหรือภาวะที่มีความสำคัญซึ่งแพทย์ประจำบ้านต้องรู้ สามารถเรียนรู้จากผู้ป่วย โดยอาจไม่ได้ดูแลผู้ป่วยโดยตรง แต่สามารถให้การวินิจฉัย ให้การบำบัดรักษา ส่งเสริมป้องกัน ฟื้นฟูสมรรถภาพได้ในระดับหนึ่ง
ระดับที่ ๓ โรคที่พบน้อย ซึ่งแพทย์ประจำบ้านควรรู้ สามารถเรียนรู้โดยการศึกษาด้วยตนเอง หรือฟังบรรยาย สามารถ ให้การวินิจฉัย ให้การรักษาเบื้องต้นหรือส่งต่อผู้เชี่ยวชาญได้
๓) การพัฒนาตนเองและการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Practice-based Learning and Improvement) แพทย์ประจำบ้านทุกชั้นปีควรมีประสบการณ์ด้านต่าง ๆ ดังนี้
ก. ทักษะการมีปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and Communication Skills)ประกอบด้วย
• ทักษะในการติดต่อสื่อสารและการสร้างสัมพันธภาพ
• ทักษะความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับงานจิตเวชศาสตร์ทั่วไป
• ทักษะความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับบทบาทของจิตแพทย์รับปรึกษา
• ทักษะความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับบทบาทจิตแพทย์เชิงกฎหมาย
• ทักษะความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับงานจิตเวชศาสตร์เชิงสหวิชาชีพ
ข. ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)
• พฤตินิสัยเจตคติ คุณธรรม และจริยธรรมแห่งวิชาชีพ (professional habits, attitudes, moral, and ethics)
• มีความสามารถในการบริหารจัดการสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสม รวมถึงสำรวจจิตใจ พัฒนาตนเอง สนใจในการเรียนรู้ต่อเนื่อง
ค. การปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (system-based practice)
มีความตระหนักรู้และรับผิดชอบต่อบริบทสังคมและระบบบริการสุขภาพของประเทศ และสามารถแสวงหาแหล่งทรัพยากรอื่นๆ ในระบบเพื่อให้การบริการรักษาพยาบาลมีคุณภาพ คำนึงความปลอดภัยของผู้ป่วย สิทธิผู้ป่วย บทบาทของการแพทย์ทางเลือก การใช้ยาและทรัพยากรอย่างสมเหตุสมผล ตลอดจนเข้าใจหลักการของการบริหารจัดการ
ง. การเรียนรู้จากการปฏิบัติ และการพัฒนาตนเอง (practice-based learning and improvement)
ตระหนักถึงขีดจำกัดในความรู้และความสามารถของตน ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ การค้นคว้าข้อมูล และการทดลองทางการแพทย์เพื่อได้ความรู้ ไปพัฒนาแผนการรักษาผู้ป่วย และคุณภาพการรักษาพยาบาลรวมถึงการดูแลสุขภาพของตนเอง

การจัดประสบการณ์การปฏิบัติงานทางคลินิกของแพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์

การจัดประสบการณ์การปฏิบัติงานทางคลินิกของแพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์

การทำวิจัย

สถาบันฯ มีการเตรียมความพร้อมให้กับแพทย์ประจำบ้านของสถาบันฯ ตั้งแต่การเตรียมโครงร่างการวิจัย ไปจนสิ้นสุดการทำงานวิจัยและจัดทำรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เพื่อนำส่งราชวิทยาลัยฯการดำเนินงานวิจัย และ การรับรองวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติสาขาจิตเวชศาสตร์ให้มีคุณวุฒิ “เทียบเท่าปริญญาเอก”
จำนวนปีของการฝึกอบรม ๓ ปี

กฎระเบียบข้อบังคับในการปฏิบัติงานดังนี้

๑) การฝึกอบรมและปฏิบัติงาน
ก. การฝึกอบรมและปฏิบัติงาน อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการฝึกอบรมฯ ภายใต้การกำกับดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษา
ข. แพทย์ประจำบ้านต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของสถาบันฯ
ค. แพทย์ประจำบ้านต้องมีพฤติกรรมอันเหมาะสมต่อผู้ให้การฝึกอบรม ผู้ร่วมงาน และผู้ป่วย ไม่กระทำการใดๆ ที่จะเป็นการนำมาซึ่งความเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติคุณของวงการแพทย์
ง. แพทย์ประจำบ้านต้องรับผิดชอบและปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายให้เรียบร้อย ถูกต้องตามหลักวิชา เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ร่วมงานและนักเรียนแพทย์/นักศึกษาแพทย์
จ. แพทย์ประจำบ้านต้องปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายทั้งวาจา และลายลักษณ์อักษร โดยต้องถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติโดยไม่มีข้อยกเว้น รวมทั้งการอยู่เวรปฏิบัติงานนอกเวลา
ฉ. แพทย์ประจำบ้านผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นแพทย์เวร มีหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย สอนและให้คำแนะนำแพทย์ประจำบ้านรุ่นน้องในการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ทั้งนี้ต้องอยู่ในบริเวณที่สถาบันฯได้จัดไว้ให้และมาปฏิบัติงานได้ทันที
ช. ในระหว่างการฝึกอบรมหากพบว่าแพทย์ประจำบ้านประพฤติตนเสื่อมเสีย ขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจในการฝึกอบรม และปัญหาอื่นๆ ที่คณาจารย์พิจารณาว่าไม่เหมาะสมต่อการฝึกอบรม คณาจารย์ฯ มีสิทธิให้แพทย์ประจำบ้านผู้นั้นออกจากการฝึกอบรมได้
ซ. สถาบันฯมีการกำหนดการฝึกอบรมทดแทนในกรณีที่แพทย์ประจำบ้านมีการลาพัก เช่น การลาคลอดบุตร การเจ็บป่วย การเกณฑ์ทหาร การถูกเรียกฝึกกำลังสำรอง การศึกษาดูงานนอกแผนการฝึกอบรม/หลักสูตร เป็นต้น
ฌ. สถาบันฯสนับสนุนให้แพทย์ประจำบ้านได้เข้าร่วมกิจกรรมวิชาการที่จัดโดยราชวิทยาลัยฯ/สมาคมจิตแพทย์ฯ
๒) การลา
ก. เมื่อแพทย์ประจำบ้านป่วย ต้องยื่นใบลาป่วยต่ออาจารย์ที่ปรึกษา ถ้าลาเกิน ๓ วัน ต้องมีใบรับรองแพทย์แนบมาด้วย
ข. ในการลากิจต้องยื่นใบลาต่ออาจารย์ที่ปรึกษา เมื่อได้รับอนุมัติจึงจะหยุดได้
ค. สถาบันฯกำหนดให้แพทย์ประจำบ้านลาพักผ่อนได้ ๑๐ วันทำการต่อปี
ง. คณะกรรมการฯจะประชุมและกำหนดการฝึกอบรมทดแทนในกรณีที่ผู้เข้ารับ การฝึกอบรมมีการลาพัก เช่น การลาคลอดบุตร การเจ็บป่วย การเกณฑ์ทหาร การถูกเรียกฝึกกำลังสำรอง การศึกษาดูงานนอกแผนการฝึกอบรม/หลักสูตร
๓) การพิจารณาโทษ
เมื่อแพทย์ประจำบ้านทำผิดกฎระเบียบข้อบังคับ พิจารณาความผิดโดย คณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ พิจารณาร่วมกัน โดยมีระดับโทษดังนี้
ก. กล่าวตักเตือนด้วยวาจา
ข. ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
ค. ภาคทัณฑ์
ง. ยืดระยะเวลาการฝึกอบรม
จ. ให้ออกจากการฝึกอบรม

การวัดและประเมินผลระหว่างการฝึกอบรมและการเลื่อนชั้นปี

ก) สถาบันฯจัดให้มีการประเมินผู้เข้ารับการฝึกอบรมระหว่างการฝึกอบรม ครอบคลุมทั้งด้านความรู้ ทักษะ เจตคติและกิจกรรมทางการแพทย์ ในมิติต่างๆดังนี้
มิติที่ ๑ ประเมินสมรรถนะ EPA ตามที่ อฝส.กำหนด
มิติที่ ๒ การประเมินสมรรถนะด้านทักษะทางคลินิก เจตคติ และ professionalism
มิติที่ ๓ การประเมินคุณภาพการรักษาพยาบาลจากเวชระเบียน (ผ่าน/ไม่ผ่าน)
มิติที่ ๔ การรายงานผลการสอบจัดโดยสถาบัน
มิติที่ ๕ การรายงานความก้าวหน้าผลงานวิจัย
ข) มีการกำหนด Achievable milestones หรือ EPAs ในแต่ละชั้นปี ผลการประเมินนำไปใช้ในกรณี ต่อไปนี้
๑ เพื่อเลื่อนระดับชั้นปี โดย เป็นไปตาม EPAs ของหลักสูตรจิตเวชศาสตร์
๒ โดยเกณฑ์ผ่านตามที่คณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ ประกาศกำหนดก่อนการเข้าฝึกอบรม
การประเมินระหว่างการฝึกอบรมจัดขึ้นสม่ำเสมอและแจ้งผลให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมรับทราบ เพื่อช่วยให้เกิดการพัฒนาสมรรถนะหลักด้านต่างๆ ของผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้สมบูรณ์ขึ้น

เกณฑ์การเลื่อนชั้นปี

๑) ปฏิบัติงานได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ ของระยะเวลาที่กำหนด
๒) ผ่านการประเมินตามมิติต่างๆ ที่กำหนดในหลักสูตร โดยได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖๐ ของแต่ละมิติ
๓) ผ่านตามเกณฑ์ Entrustable professional activities
๔) ปฏิบัติงานได้สอดคล้องตามข้อกำหนดของสถาบันฯไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันฯ


การคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน

สาขาจิตเวชศาสตร์สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา



๑) คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม

๑) ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
• ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต หรือเทียบเท่าที่แพทยสภารับรองได้รับการขึ้นทะเบียนประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภาแล้ว
• ผ่านการอบรมแพทย์เพิ่มพูนทักษะเป็นเวลาอย่างน้อย ๑ ปี
• ผู้ที่ได้รับวุฒิบัตรสาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่นของแพทยสภา หรือเป็น แพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ที่ผ่านการฝึกอบรมชั้นปีที่ ๒ แล้วสามารถสมัครเข้ารับการฝึกอบรมในชั้นปีที่ ๓ ได้ (หากแพทย์ประจำบ้าน ชั้นปีที่ ๓ ยังไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด)
• หากผู้สมัครมีความพิการ จะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเป็นจิตแพทย์
• หากเป็นชายต้องเป็นผู้ผ่านการเกณฑ์ทหาร หรือได้รับการยกเว้นการเป็นทหาร หรืออยู่ระหว่างการผ่อนผัน
๒) มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์แพทยสภาในการเข้ารับการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง
๓) ผู้ที่มีต้นสังกัดจะได้รับการพิจารณาก่อน หากต้นสังกัดอยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนจิตแพทย์จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

๒) ศักยภาพในการผลิตแพทย์ประจำบ้านต่อปี

สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา รับแพทย์ประจำบ้านจำนวน ๘ อัตรา/ปี

๓) วิทยฐานะ

• แพทย์ประจำบ้านที่ผ่านการฝึกอบรมและเลื่อนชั้นปี จะได้รับประกาศนียบัตรผ่านการฝึกอบรมและเลื่อนชั้นปี จากสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต
• แพทย์ประจำบ้านที่ฝึกอบรมครบ ๓ ปี และผ่านการประเมินการฝึกอบรมจากสถาบันฯ มีสิทธิสมัครสอบเพื่อวุฒิบัตรฯ เป็นแพทย์เฉพาะทางแสดงความรู้ความชำนาญใน การประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาจิตเวชศาสตร์ จากแพทยสภา (ว.ว.จิตเวชศาสตร์ )

๔) คณะกรรมการคัดเลือก

๔.๑) การคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรม สถาบันฯได้กำหนดรายชื่อคณะกรรมการและเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม โดยกำหนดวิธีการคัดเลือกยึดหลักความเสมอภาค โปร่งใส และตรวจสอบได้
๔.๒) คณะกรรมการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาจิตเวชศาสตร์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
๑) แพทย์หญิงสุพัฒนา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษา
๒) นายแพทย์เกษม ตันติผลาชีวะ ที่ปรึกษา
๓) นายแพทย์ธีระ ลีลานันทกิจ ที่ปรึกษา
๔) นายแพทย์ฐานันดร์ ปิยะศิริศิลป์ ที่ปรึกษา
๕) ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ประธานกรรมการ
๖) นายแพทย์นรวีร์ พุ่มจันทร์ กรรมการ
๗) นายแพทย์นพดล วาณิชฤดี กรรมการ
๘) แพทย์หญิงปัทมา ศิริเวช กรรมการ
๙) นายแพทย์วีรพล อุณหรัศมี กรรมการ
๑๐) นายแพทย์พลภัทร์ โล่เสถียรกิจ กรรมการ
๑๑) นายแพทย์วิญญู ชะนะกุล กรรมการ
๑๒) แพทย์หญิงฐิติมา สงวนวิชัยกุล กรรมการ
๑๓) นายแพทย์สุทธา สุปัญญา กรรมการ
๑๔) แพทย์หญิงทัศนีย์ กุลจนะพงศ์พันธ์ กรรมการและเลขานุการ
๑๕) แพทย์หญิงธนียา วงศ์จงรุ่งเรือง กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
๑๖) นายแพทย์ปทานนท์ ขวัญสนิท กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
๔.๓) ในการคัดเลือกจะต้องมีคณะกรรมการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาจิตเวชศาสตร์ อย่างน้อย ๔ คน เป็นผู้สัมภาษณ์

๕) กระบวนการคัดเลือก

๕.๑) ประกาศรับสมัครโดยแพทยสภา
การรับสมัคร ยึดตามกำหนดการของราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยโดยแพทย์ผู้สนใจ สามารถดูรายละเอียดการรับสมัคร และกรอกใบสมัครด้วยตนเองทาง website : http://www.tmc.or.th/tcgme พิมพ์เอกสารและหลักฐานต่างๆ ส่งไปยังราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ตามวันเวลาที่กำหนด
๕.๒) คณะกรรมการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาจิตเวชศาสตร์สัมภาษณ์โดยประเมินจากคุณสมบัติต่างๆ ดังนี้
๑) ความรู้
๒) ความสามารถ
๓) บุคลิกภาพและเจตคติ
๔) คุณธรรมและจริยธรรม
ทั้งนี้เกณฑ์การรับสมัครผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นไปตามที่หลักสูตรได้กำหนดคุณสมบัติไว้ ตามระเบียบของราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และแพทย์สภา โดยปราศจากอคติเรื่องเพศ เชื้อชาติ ศาสนา การเมือง หรืออำนาจอันมิชอบ
๕.๓) กรรมการแต่ละคนต่างให้คะแนนเป็นอิสระต่อกันในใบแบบฟอร์มการให้คะแนน โดยปราศ จากอคติเรื่องเพศ เชื้อชาติ ศาสนา การเมือง หรืออำนาจอันมิชอบ จากนั้นนำค่าคะแนนมาคำนวณหาค่าเฉลี่ย แล้วเรียงลำดับคะแนนเฉลี่ย
๕.๔) คณะกรรมการฯ ประชุมตัดสินผลการคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ โดยเรียงลำดับจากคะแนนมากไปหาน้อย แล้วจึงนำเสนอผลการสอบสัมภาษณ์ต่อคณะกรรมการฝึกอบรมฯ เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณารับรอง
๕.๕) การพิจารณาตัดสินผลการคัดเลือกฯ ของที่ประชุมคณะกรรมการฝึกอบรมฯ ถือเป็นสิทธิ์ขาด คณะกรรมการฝึกอบรมฯ จะมีหนังสือแจ้งผลการคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ ส่งไปยังราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และแพทยสภาตามลำดับ
๕.๖) ผู้สมัครสามารถอุทธรณ์ผลการคัดเลือกได้ โดยให้ผู้สมัครยื่นคำร้องต่อประธานคณะกรรมการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาจิตเวชศาสตร์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ภายใน ๑๕ วันหลังจากประกาศผลการคัดเลือกการคัดเลือก
๕.๗) ผู้ประสงค์จะเข้ารับการฝึกอบรม/ผู้สมัครที่ต้องการอุทธรณ์ผลการคัดเลือก สามารถติดต่อ เพื่อขอทราบรายละเอียด โดยติดต่อทางโทรศัพท์หมายเลข ๐ ๒๔๔๒ ๒๕๐๐ ต่อ ๕๙๒๗๖

๖) เอกสารประกอบการสมัคร

๖.๑) รายละเอียดตามประกาศจากแพทยสภา และราชวิทยาลัยจิตแพทย์
๖.๒) หนังสือแสดงเจตจำนง (Statement of purpose ) เขียนด้วยลายมือตนเอง ความยาว ๑ หน้ากระดาษ A4
๖.๓) หนังสือรับรอง/แนะนำตัวผู้สมัคร ให้ใช้แบบฟอร์มของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา สามารถดาวโหลดได้ด้านล่าง
๖.๔) สำเนาผลการสอบภาษาอังกฤษ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- IELTS
- TOEFL: iBT(หรือเทียบเท่าแบบ CBT หรือ PBT)
- TOEIC, DIFA TES(ส่วน Reading และ listening)
- CU-TEP
- TU-GET (CBT หรือเทียบเท่า)

๗) ดาวโหลดเอกสารประกอบการสมัคร